โปรดเว้นระยะห่าง ขับรถจี้ท้าย พฤติกรรมอันตรายที่ควรหยุดทำ
.
ผู้ขับรถหลายคนเคยมีประสบการณ์ถูกรถยนต์ที่ขับตามมาจี้ท้ายรถของเรา นอกจากจะสร้างความเครียดที่จะต้องมาพะวงรถยนต์ด้านหลังแล้ว ยังทำให้เราต้องขับรถเร็วขึ้นด้วยจากการพยามยามทิ้งระยะห่าง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นอันตรายต่อการขับขี่บนท้องถนนทั้งคนที่ขับจี้ท้ายและคนที่ถูกขับจี้ท้ายด้วยเช่นกัน งานวิจัยจากรัฐควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลียได้ศึกษาถึงพฤติกรรมและความอันตรายของผู้ที่ชอบขับรถจี้ท้าย รวมถึงแนวการแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าว ทาง ThaiRAP จึงขอสรุปข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวไว้ดังนี้
.
อ้างอิง: Tailgating is stressful and dangerous. Our research examines ways it might be stopped (theconversation.com)
โดนจี้ท้าย ประสบการณ์เลวร้ายบนท้องถนน
งานวิจัยนี้ได้สำรวจผู้ใช้ถนน 887 คน โดยร้อยละ 98 เคยมีประสบการณ์การโดนขับรถจี้ท้าย ซึ่งเป็นประสบการณ์แย่ๆ ซึ่งสร้างความเครียดอย่างมากให้แก่ผู้ขับรถ
.
จากสถิติอุบัติเหตุรุนแรงมากกว่า 7,000 ครั้ง (ค.ศ. 2019 – 2020) จะมีสาเหตุมาจากการขับรถจี้ท้าย ซึ่งขัดแย้งกับสถิติผู้ขับขี่ที่โดนใบสั่งเรื่องการขับรถจี้ท้ายที่มีเพียง 3,000 กว่าเคส จึงสะท้อนถึงปัญหาการขับจี้ท้ายยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีนัก
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขับจี้ท้าย
จากการศึกษาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมดังกล่าว คือ
1) ไม่รับรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิด
2) ไม่ได้รับใบสั่งเมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยง
3) เห็นว่าคนรอบตัวเคยโดนจี้ท้าย
และ 4) คิดว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำได้โดยไม่ถูกจับ
.
ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพคือ การให้ความรู้ถึงอันตรายของการขับรถจี้ท้าย และความรู้ด้านกฎหมายต่อความผิดในการขับรถจี้ท้าย
.
สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 40 ระบุว่า "ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ห่างคันหน้าพอสมควรในระยะที่หยุดรถได้โดยปลอดภัยเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถ"
เว้นระยะอย่างไรให้ปลอดภัย
.
บางครั้งเองผู้ขับขี่บางคนอาจไม่ทราบว่าตัวเองกำลังขับรถจี้ท้ายรถคันอื่นจากความเคยชินในการขับขี่ ทาง ThaiRAP จึงขอวิธีในการเว้นระยะห่างอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล (NSW Government) ไว้ดังนี้
• ห่างครึ่งหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยง ตามมาตรฐานสากล (NSW Government)
หากเรากำลังขับที่ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เราเว้นระยะจากคันหน้า 80/2 = 40 เมตร แต่ถ้าสภาพถนนไม่ดี ยางล้อเสื่อม หรือมีฝนตกหนัก ควรเพิ่มระยะห่างเป็นสองเท่า
• ห่าง 3 วินาที เพื่อความปลอดภัย
ลองใช้วิธีสังเกตจากเสาไฟฟ้า ต้นไม้ หรือหลักกิโลเมตร เป็นตัวช่วยในการกะเวลา เช่น เมื่อรถคันหน้าผ่านต้นไม้ แล้วเราที่ขับตามมาถึงต้นไม้ต้นเดียวกันในช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 วินาที จะช่วยให้เรามั่นใจได้ในระดับนึงว่าปลอดภัยจากการชนท้าย
เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัย ThaiRAP จึงอยากสนับสนุนให้มีการจัดการพฤติกรรมการขับรถจี้ท้าย ทั้งด้านการให้ความรู้และการบังคับใช้กฎหมาย และฝากถึงทุกคนให้เลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อตัวท่าน และเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน โดยการขับขี่ที่ดี มีน้ำใจ ไม่ประมาทจะช่วยถนนปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางทุกคน
Ref:Tailgating is stressful and dangerous. Our research examines ways it might be stopped (theconversation.com)
Safe stopping distance | NSW Government
เว้นระยะห่างจากคันหน้าเท่าไหร่...ถึงปลอดภัย - SILKSPAN
Comments