ผู้ติดตาม ThaiRAP คงทราบกันดีว่า ถนน 5 ดาว คือถนนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดต่อการเสียชีวิตเมื่อเกิดการชนบนท้องถนน แต่นอกจากการจัดลำดับความปลอดภัยทางถนนแล้ว ตัวรถยนต์ก็มีการจัดลำดับเป็นค่าดาวเช่นเดียวกัน โดยรถที่ผ่านการทดสอบระดับบ 5 ดาว จะเป็นรถที่ปลอดภัยต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสารเมื่อเกิดการชน แต่นอกจากถนนและรถแล้ว หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการชนก็คือ ผู้ขับขี่ ซึ่งอาจจะไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดลำดับความปลอดภัยของผู้ขับขี่ แต่เราก็ทราบว่า ถ้าผู้ขับขี่ที่อยู่ในสภาพไม่พร้อม ก็อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการชนบนท้องถนน
เมาแล้วขับคือหนึ่งในปัญหาต่อความปลอดภัยทางถนนเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลเช่น เทศกาลปีใหม่ หรือเทศกาลสงกรานต์ ปัญหาการเมาแล้วขับนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วัน สถิติเฉพาะช่วงปีใหม่ครั้งที่แล้วมีผู้ถูกจับในคดีเมาแล้วขับกว่า 2,399 คดี แม้ว่าทุกปีจะมีการใช้มาตรการรับมือกับการเมาแล้วขับ แต่สถิติการเมาแล้วขับก็ยังสูงอยู่ตลอด
ในฝั่งยุโรป สภาความปลอดภัยทางด้านการคมนาคมยุโรป (European Transport Safety Council: ETSC) ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการเมาแล้วขับ โดยพบว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับกว่า 5,000 คน ดังนั้นทาง ETSC จึงได้กำหนดนโยบายให้มีการติดตั้ง Alcohol interlock บนรถของผู้ที่มีประวัติเมาแล้วขับทุกคัน
Alcohol interlock เป็นเครื่องมือช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ขับรถสตาร์ทรถได้ หากผู้ขับมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายระดับที่สูงกว่าจะปลอดภัยในการขับรถ โดยผู้ขับขี่จะต้องเป่าลมเข้าไปใน Alcolock ก่อนจะสตาร์ทรถทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถขับรถได้ ผลจากการศึกษาพบว่าการติดตตั้ง Alcohol interlock สามารถป้องกันการกระทำผิดซ้ำคนเมาแล้วขับได้ถึง 69% โดยปัจจุบันมีการใช้ Alcohol interlock เพื่อควบคุมพฤติกรรมการเมาแล้วขับกว่า 10 ประเทศในยุโรป และมีการใช้งมากกว่า 34 รัฐ ในสหรัฐอเมริกา
ในปัจจุบัน EU ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2022 ยานพาหนะใหม่ทุกคันจำเป็นต้องติดตั้ง Alcohol interlock เป็นมาตรฐานรถยนต์ใหม่ เพื่อลดตัวเลขการเมาแล้วขับให้ได้ต่ำที่สุด สำหรับประเทศไทย Alcohol interlock อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับแก้ปัญหาป้องกันคนเมาไม่ให้ขับขี่บนท้องถนน
Comments