จริงหรือไม่ ? ป้ายเตือนขนาดใหญ่ ลดการชนได้ดีกว่า
.
ป้ายเตือนอันตรายเป็นหนึ่งในมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน ที่จะช่วยเตือนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ในพื้นที่ที่ถนนมีการเปลี่ยนแปลง เช่น บริเวณเข้าสู่ทางโค้ง บริเวณเข้าสู่ทางแยก หรือก่อนเข้าพื้นที่ชุมชน ในหลายพื้นที่นั้น การติดตั้งป้ายเตือนอันตรายช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ผลลัพธ์จากงานวิจัยของ Hall และ Madsen (2022) จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ที่ได้ทำศึกษาการติดตั้งป้ายเตือนประเภทป้ายสลับข้อความ (Variable Message sign,VMS) บนทางด่วนกว่า 880 ป้าย ในสหรัฐอเมริกา กลับให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับคาดไว้
.
Hall และ Madsen ได้รวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุก่อนและหลังติดตั้งป้ายเตือนอันตรายบนทางด่วนในรัฐเท็กซัส ระหว่างปี 2010 ถึงปี 2017 พบว่า อุบัติเหตุหลังติดตั้งป้ายเตือนอันตรายสูงขึ้นร้อยละ 4.5 จากก่อนติดตั้งป้ายเตือนอันตราย โดยคิดเป็นอุบัติเหตุจำนวนกว่า 2,600 ครั้ง และผู้เสียชีวิตกว่า 16 คนในหนึ่งปีโดยประมาณ
.
ศาสตราจารย์ Hall ได้กล่าวว่า อุบัติเหตุที่พุ่งสูงขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจาก ลักษณะของป้ายเตือนอันตรายที่มีความโดดเด่นมากจนดึงดูดความสนใจของผู้ขับขี่ รวมถึงข้อความในป้ายที่ผู้ขับขี่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิในการขับขี่ และนำไปสู่อุบัติเหตุที่ตามมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนส่วนที่มีปริมาณการจราจรสูง และช่วงถนนมีความซับซ้อนจากจุดตัดและทางแยก อย่างไรก็ตาม ผลจากงานวิจัยพบว่าในช่วงถนนที่มีปริมาณการจราจรต่ำและถนนไม่มีความซับซ้อน ป้ายเตือนอันตรายนั้นสามารถลดจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้
.
อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้เองเป็นการศึกษาในต่างประเทศ อาจมีบริบทที่ทำให้ผลลัพธ์ในการติดตั้งป้ายเตือนอันตรายนั้นแตกต่างจากไทย เช่น ลักษณะของป้ายเตือน หรือความซับซ้อนของถนนในไทยที่มีความแตกต่างกับของสหรัฐอเมริกา ThaiRAP คาดหวังว่าจะมีคนหรือหน่วยงานที่สนใจ นำงานวิจัยนี้ไปศึกษาต่อยอดในบริบทของไทย เป็นแนวทางในการพิจารณาการติดตั้งป้ายเตือนหรือป้านโฆษณาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย
コメント